event one

สภาการพยาบาล


ประวัติสภาการพยาบาล      
                สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ได้จัดทำยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ฉบับแรกขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2514 เพื่อที่จะผลักดันให้มีองค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในประเทศไทย ซึ่งในปี พ.ศ.2518 ที่ประชุมของการประชุมพยาบาลแห่งชาติ ครั้งที่ 5  ได้มีมติให้เสนอกระทรวงสาธารณสุขให้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะพุทธศักราช 2479 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสาขาการพยาบาลและสาขาการผดุงครรภ์ เพื่อแสดงความหมายและขอบเขตของพยาบาลและผดุงครรภ์ให้ชัดเจนและสมบูรณ์   ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป และเสนอให้มีการจัดตั้งสภาการพยาบาล เพื่อทำหน้าที่ควบคุมวิชาชีพนี้ 

                พ.ศ.2521 สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ขึ้นอีกคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ต่อจนแล้วเสร็จ และนำเสนอเข้าสู่กระบวนการการออกพระราชบัญญัติตามขั้นตอนนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2528 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528  ด้วยเหตุผลว่า “เนื่องจากในปัจจุบันการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาล และการผดุงครรภ์อยู่ในความควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุมทั้งการประกอบโรคศิลปะ แผนปัจจุบันในสาขาทันตกรรม เภสัชกรรม การพยาบาล การผดุงครรภ์   กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ และการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณใน สาขาเวชกรรม  เภสัชกรรม การผดุงครรภ์ และในปัจจุบันมีผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันในสาขาการพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นจำนวนมากสมควรแยกการควบคุมการประกอบโรคศิลปะโดยจัดตั้ง  “สภาการพยาบาล” ขึ้น ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว และผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวได้รับเลือกตั้งโดยผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันเองเป็นกรรมการ เพื่อความคล่องตัวในการทำหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมมาตรฐาน การประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์โดยอิสระเหมาะสม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”  พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 102 ตอน 120   วันที่  5 กันยายน พ.ศ. 2528  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2528
                ในระยะเริ่มแรกของการจัดตั้งสภาการพยาบาล  สภาการพยาบาลได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุข  ให้ใช้พื้นที่ของหน่วยงานของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วังเทวะเวสม์  เขตพระนคร  กรุงเทพ โดยการใช้พื้นที่ของ กองการประกอบโรคศิลปะ  กองการพยาบาล  และกองงานวิทยาลัยพยาบาล  เป็นสถานที่ทำการชั่วคราวของสำนักงานสภาการพยาบาล ตามลำดับ  จนกระทั่งในปี พ.ศ.2536   กระทรวงสาธารณสุขได้ย้ายที่ทำการมายังจังหวัดนนทบุรี สภาการพยาบาลได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงให้ใช้พื้นที่ อาคาร 6 ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เป็นที่ทำการของสภาการพยาบาลชั่วคราว   และต่อมาได้จัดสรรที่ดินภายในบริเวณกระทรวงสำหรับการก่อสร้างสภาวิชาชีพ   สภาการพยาบาลจึงได้ดำเนินการรณรงค์หาทุนสำหรับการก่อสร้างที่ทำการถาวรของสภาการพยาบาลขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพระราชทานนามอาคารว่า  “อาคารนครินทรศรี” ( นะ – ค – ริน – ทะ – ระ – ศรี ) และได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์อาคารนครินทรศรี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2540
             ในปี พ.ศ.2540 ได้มีการออกพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 เพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 114 ตอนที่ 75 ก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2540 มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์  ที่สำคัญหลายประการ ได้แก่การกำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาพยาบาลที่จะขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นจะต้องสอบความรู้ผ่านตามเกณฑ์ที่สภาการพยาบาลเป็นผู้กำหนด และการกำหนดอายุใบอนุญาตให้มีอายุ 5 ปี  ทั้งพยาบาลและผดุงครรภ์ที่ขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตใหม่  รวมทั้งพยาบาลและผดุงครรภ์รุ่นเก่าที่เคยมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ฯ อยู่เดิม ที่ไม่ได้กำหนดวันหมดอายุเอาไว้  จะมีอายุใบอนุญาตต่อไปอีก 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2545

เว็บไซต์

http://www.tnc.or.th/

หมายเลขติดต่อ

ภาพบรรยากาศ